วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การจัดการเพื่อคุณภาพผลผลิต

 การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต 

         หลักการสำคัญคือการจัดการให้ผลอ่อน มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการชะงัก หรือชะลอการพัฒนาอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น การส่งธาตุอาหารในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งผลิตในต้นไปเลี้ยงผลอ่อนไม่เพียงพอ การขาดน้ำ หรือสาเหตุอื่นๆ โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

  1. การตัดแต่งผล ต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้ง เริ่มจากตัดแต่งผลอ่อนที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ขนาดเล็ก หรือต่างรุ่นออก เหลือแต่ผลอ่อนที่มีลักษณะรูปทรงสมบูรณ์ ขั้วผล ใหญ่ การตัดแต่งผลอ่อนครั้งแรก ต้องทำให้ เสร็จภายในสัปดาห์ที่ หลังดอกบาน 4โดยปริมาณผลที่เก็บไว้ควรมีมากกว่าจำนวนผลที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณร้อยละ 20

  2. การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของผลจะช่วยเพิ่ม ผลผลิตและเพิ่มคุณภาพได้ ช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-17+2 เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง 5-6 สัปดาห์ หลังดอกบาน และใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง 7-8 สัปดาห์ หลังดอกบาน การใส่ ปุ๋ยทั้ง 2 สูตรในช่วงที่กำหนดนี้ จะช่วยเพิ่มขนาดผลเนื้อมีการพัฒนาได้ดี และสุกแก่ (เข้าสี) ได้เร็วขึ้น

  3. การจัดการเสริมด้วยปุ๋ย “สูตรทางด่วน” ช่วยให้ผลอ่อนของทุเรียนเจริญเติบโตดี ผลแก่เร็ว มีคุณภาพสูง ควรฉีด “สูตรทางด่วน” ติดต่อกันทุกสัปดาห์จำนวน 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ 5 สัปดาห์หลังดอกบานเป็นต้นไป

  4. การป้องกันการแตกใบอ่อน การป้องกันไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนในระหว่างพัฒนาการของผลอ่อนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากมีการแตกใบอ่อนในช่วงนี้ ผลอ่อนจะไม่สามารถแข่งขันเพื่อแย่งอาหารสะสมกับใบอ่อนได้ ผลอ่อนที่กำลังพัฒนาก็จะหยุดชะงัก และเกิดผลกระทบในด้านคุณภาพของ ผลติดตามมา

  5. การโยงผลทุเรียน วิธีการโยงผลทุเรียนที่ถูกต้องสามารถลดการร่วงของผล และกิ่งหักหรือกิ่งฉีกเนื่องจากลมแรงได้ การโยงผลทุเรียนต้องผูกเชือกโยงกับกิ่งทุเรียนให้เลยตำแหน่งเชื่อมต่อระหว่างขั้วผลกับกิ่งไปทางด้านปลายยอดของกิ่ง โดยพยายามสอดดึงเชือกโยงเหนือกิ่งทำมุมกว้างในแนวขนานกับกิ่งนั้น แล้วดึงปลายเชือกผูกรั้งกับต้นให้ตึงพอประมาณ สังเกตได้จากกิ่งนั้นยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อย และสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเป็นอิสระ เชือกโยงกิ่งหรือผลทุเรียนต้องเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างสูง ควรใช้เชือกโยงหลายสีในกรณีที่มีผลทุเรียนหลายรุ่นในต้นเดียวกัน

  6. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงในระหว่าง ที่ผลอ่อนกำลังพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น หากละเลยจะทำให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพของผลทุเรียนลดลง โรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคผลเน่า หนอนเจาะผล ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย 

การจัดการเพื่อการติดผล

 การจัดการเพื่อส่งเสริมการติดผล

         การติดผลเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในการกำหนดปริมาณผลผลิตต่อต้น ดังนั้น หากต้องการที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิต จึงจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อส่งเสริมการติดผล ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

  1. ตัดแต่งดอกให้เป็นดอกรุ่นเดียวกัน ตัดแต่งดอกรุ่นที่มีปริมาณน้อยออกให้เหลือดอกเพียงรุ่นเดียวในแต่ละกิ่ง หรือเป็นดอกรุ่นเดียวกันทั้งต้น ในกรณีที่ดอกมีปริมาณมาก ให้ตัดแต่งและเหลือดอกไว้เป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน ๒๐ ดอก แต่ละกลุ่มห่างกันพอเหมาะตามตำแหน่งที่คาดว่าจะไว้ผล ในกรณีที่มีดอกหลายรุ่น และแต่ละรุ่นมีปริมาณ ดอกจำนวนใกล้เคียงกัน ให้พิจารณาตัดแต่งให้เหลือเป็นดอกรุ่นเดียวกันในแต่ละกิ่ง โดยกระจายปริมาณของดอกทั่วต้นให้เหลือจำนวนพอประมาณ การตัดแต่งดอกควรดำเนินการ ในระยะมะเขือพวง (ประมาณ 30 วัน หลังจากเกิดดอกในระยะไข่ปลา)
  2. จัดการน้ำเพื่อช่วยการติดผลและขึ้นลูก การจัดการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำในช่วงพัฒนาการต่างๆของดอกและผลอ่อน มีบทบาทสูงในการช่วยลด ปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้เป็นอย่างดี และเพิ่มการติดผลและขึ้นลูกของทุเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ดอกทุเรียนในระยะเหยียดตีนหนูต้องให้น้ำในปริมาณสูง แต่ลดปริมาณน้ำลงประมาณร้อยละ 40 ในช่วงระยะดอกขาวจนถึงระยะผลอ่อนอายุ 1 สัปดาห์ หลังดอกบาน รักษาปริมาณความชื้นในดินให้สม่ำเสมอโดยให้น้ำครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยครั้ง และเมื่อปลายยอดเกสรตัวเมียที่ติดอยู่กับผลอ่อนเริ่มไหม้และแห้งเป็นสีน้ำตาลแก่ จึงเริ่มเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้ขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงเน้นการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผลอ่อนมีอายุประมาณ 3 สัปดาห์หลังดอกบาน และปลายยอดเกสรตัวเมียที่ติดอยู่กับผลอ่อนมีลักษณะแห้งเป็นสีดำ จึงเพิ่มปริมาณน้ำที่ให้มากขึ้นตามคำแนะนำ และรักษาสภาพความชื้นในดินให้สม่ำเสมอไปจนผลอ่อนมีอายุ 5 สัปดาห์หลังดอกบาน ในกรณีที่มีฝนตกปริมาณมาก ในช่วงเวลาใกล้ดอกบาน ให้พยายามรักษาสภาพความชื้นในดินและความชื้นบรรยากาศ ภายใต้ทรงพุ่มให้สม่ำเสมอ โดยการให้น้ำทุกๆ วัน แต่ในปริมาณวันละไม่มากนัก กวาดเศษซากของดอกที่ร่วงออกให้หมดจาก บริเวณผิวดินใต้ทรงพุ่ม เพื่อช่วยในการถ่ายเท อากาศตรงบริเวณผิวดินให้ดีขึ้น จะช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของดอกและผลอ่อนได้ในระดับหนึ่ง

  3. การช่วยผสมเกสร การติดผลน้อยของทุเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นปัญหาที่สำคัญ การช่วยผสมเกสรโดยใช้ละอองเกสรจากทุเรียนต่างพันธุ์จึงเป็น การช่วยทำให้กระบวนการถ่ายละอองเกสรประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิสนธิ ปริมาณการติดผลจึงเพิ่มขึ้น ผลทุเรียนที่เกิดจากการช่วยผสมเกสร จะมีการเจริญเติบโตเร็ว รูปทรงดี พูเต็ม คุณภาพเนื้อดี สีเนื้อ และรสชาติไม่แตกต่างจากพันธุ์แม่ ปริมาณเนื้อที่รับประทานได้ต่อผลเพิ่มขึ้น

  4. ฉีดพ่นด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต การช่วยผสมเกสรเป็นสิ่งจำเป็น การปฏิบัติต้องใช้เวลาและแรงงาน จึงจะทำให้การผสมเกสรนั้นได้ผลดีตามต้องการ ในกรณีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีพื้นที่ในการปลูกทุเรียนตั้งแต่ 3-15 ไร่ การช่วยผสมเกสร สามารถปฏิบัติได้ แต่ถ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ ก็จะมีปัญหาในด้านการปฏิบัติ จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการอื่น พบว่า การฉีดพ่นใบทั่วทั้งต้นด้วยสารแพกโคลบิวทราโซล ในอัตรา 500 ส่วนต่อล้านส่วน ในช่วงที่ดอกทุเรียน อยู่ในระยะกระดุมหรือหัวกำไล จะช่วยทำให้ มีการติดผลได้ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับการ ช่วยผสมเกสร และคุณภาพของผลผลิตไม่แตกต่างกัน 

การเตรียมต้นเพื่อการออกดอก

 การเตรียมต้นเพื่อการออกดอก

         ต้นทุเรียนที่พร้อมก่อนการออกดอกคือ ต้นทุเรียนที่ผ่านการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสาขาโดยมีการแตกใบอ่อนมาแล้วอย่างน้อย 1 ชุด มีการสังเคราะห์แสงและสะสมอาหาร ในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ มีปริมาณใบมากเพียงพอ และสังเกตได้โดยเมื่อมองจากใต้ต้นขึ้นไป จะเห็นช่องว่าง ระหว่างใบในทรงพุ่มไม่เกินร้อยละ 40 ของพื้นที่ผิวทรงพุ่ม ใบส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นใบแก่ กิ่งของแต่ละยอดเริ่มแก่ ทำให้สังเกตได้ชัดเจนว่า ยอดตั้งขึ้นเกือบทุกยอด ต้นทุเรียนที่ได้รับการจัดการดี และมีสภาพพร้อมที่จะออกดอก จึงสังเกตได้จากการที่ต้นมีปริมาณใบพอเหมาะ ใบสมบูรณ์ มีสีเขียวเข้มเป็นมันและแก่ กิ่งของยอดแก่หรือยอดตั้งได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการออกดอก คือ มีช่วงฝนทิ้งช่วง 10-14 วัน อุณหภูมิและความชื้นของอากาศค่อนข้างต่ำ จะทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้มาก และสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น การเตรียมสภาพความพร้อมของต้นเพื่อการออกดอกจะประสบความสำเร็จได้ดีนั้น ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพของต้นที่เป็นอยู่ ดังนี้


  1. ต้นที่มีสภาพความสมบูรณ์ค่อนข้างพร้อม เป็นต้นที่มีลักษณะโครงสร้างของทรงพุ่มค่อนข้างดี ทรงพุ่มเป็นรูปฉัตร มีกิ่งที่ขนาดพอดีเป็นจำนวนมาก โดยกิ่งนั้นไม่ใหญ่เกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งมากกว่า 8 นิ้ว) หรือกิ่งมีขนาดเล็กเกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งน้อยกว่า ¾ นิ้ว) มีปริมาณใบมาก และมีใบแก่ที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ต้นประเภทนี้สามารถเตรียมความพร้อมได้ง่าย โดยการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและกิ่งขนาดเล็ก ออกไป ซึ่งมักเป็นกิ่งที่มีใบอยู่ด้านนอกของทรงพุ่ม และมีอยู่เป็นจำนวนมาก

  2. ต้นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม เป็นต้นที่มีโครงสร้างของทรงพุ่มไม่ค่อยดี มีสัดส่วน ของใบต่อกิ่งน้อยกว่าต้นประเภทแรก คือ มีปริมาณน้อย ใบมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีไม่เขียวเข้ม โดยปกติต้นประเภทนี้มักเป็นต้นที่มีอายุค่อนข้างมาก (มากกว่า 15 ปี) การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ หรือการจัดการด้านอารักขาพืช ในฤดูการผลิตที่ผ่านมาไม่เหมาะสม และมีการไว้ผลมากจนต้นมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม เกิดผลกระทบต่อระบบราก ทำให้ระบบรากไม่สมบูรณ์ การจัดการเพื่อเตรียมสภาพความพร้อมของต้นจึงต้องมีการกระตุ้น พัฒนาการของระบบรากเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ระบบรากฟื้นตัวมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้ในการดูดซับธาตุอาหารและน้ำ การกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากนี้จะต้องกระทำก่อนการใส่ปุ๋ยและให้น้ำ

  3. ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่ง เป็นลักษณะอาการเฉพาะ ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่งจะมีสภาพทั่วไปค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ต้นทุเรียนจะแสดงอาการขาดน้ำ สังเกตได้จากใบทุเรียนจะมีอาการสลดและใบตก ตั้งแต่ช่วงสายๆ หรือตอนบ่าย ซึ่งบ่งชี้ถึงการเข้าทำลาย ของโรครากเน่าและต้นเน่า เนื่องจากเชื้อราไฟทอปเทอรา ดังนั้น การเตรียมสภาพความพร้อมของต้นประเภทนี้จะต้องดำเนินการ ต่างจากต้น 2 ประเภทแรก คือ


    • การรักษาโรค โดยวิธีการตรวจหาตำแหน่งที่เป็นโรค ด้วยการสังเกตจากสีเปลือกลำต้นหรือกิ่ง โดยตำแหน่งที่เป็นโรคนั้น เปลือกจะมีสีคล้ำกว่าสีเปลือกปกติ และสังเกตเห็นคราบน้ำเป็นวง หรือไหลเป็นทางลงด้านล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้า ที่มีอากาศชุ่มชื้น อาจเห็นเป็นหยดน้ำปุดออกมาจากบริเวณแผลที่มีสีน้ำตาลปนแดง การรักษาโรคกิ่งและต้นเน่านี้ ทำได้โดยใช้มีดหรือสิ่งมีคมถากเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกบางๆ เพื่อให้ทราบขอบเขตของแผลที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายอย่างชัดเจน แล้วใช้สารเมทาแลกซิล (Metalaxyl) ชนิดผงร้อยละ 25 อัตรา 50-60 กรัม/น้ำ 1 ลิตร หรือสารฟอสเอทิลอะลูมินัม (Phosethyl aluminum) ชนิดผงร้อยละ 30 ในอัตรา 80-100 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ทาตรงบริเวณที่ถากออกให้ทั่ว และตรวจสอบแผลที่ทาไว้หลังจากการทาด้วยสารเคมีครั้งแรก 15 วัน หากรอยแผลยังไม่แห้ง มีลักษณะฉ่ำน้ำ ให้ทาซ้ำ ด้วยสารเคมีชนิดเดิมจนกว่าแผลจะแห้ง

    • ชะลอการหลุดร่วงของใบ ต้นทุเรียนที่เป็นโรครากเน่า ต้นเน่านี้ ใบจะมีอาการเหลืองและหลุดร่วงไป เนื่องจากโรคทำให้เกิดการขัดขวางการเคลื่อนย้ายของธาตุอาหาร หรือสารประกอบคาร์โบไฮเดรตภายในท่อน้ำ และท่ออาหาร จนต้นเกิดอาการทรุดโทรม โดยปกติ การฟื้นฟูสภาพความสมบูรณ์ของต้นหลังจากเกิดโรคทำได้ยาก ต้องใช้เวลานาน และมักไม่ทันต่อการผลิตในฤดูการผลิต ถัดไป แต่ถ้าดำเนินการรักษาโรคและหยุดการลุกลามของโรคได้อย่างรวดเร็ว และชะลอการหลุดร่วงของใบ โดยฉีดพ่นต้นด้วย สารประกอบกึ่งสำเร็จรูปที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก (สูตรทางด่วน) หรือฉีดพ่นต้นด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง กัน จะช่วยให้ต้นทุเรียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

    • การจัดการอื่นๆ เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับการเตรียมสภาพความพร้อมของต้นทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวถึงแล้ว

  4. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด สาเหตุเกิดจากการขาดธาตุเหล็กและธาตุแมกนีเซียม โดยทั่วไปในส่วนอื่นของลำต้นจะมีสีเขียวและลักษณะเป็นปกติ แต่จะพบอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาด ถ้าเป็นใบอ่อน ใบจะ มีขนาดเล็กกว่าปกติ แผ่นใบและเส้นกลาง ใบจะเหลืองซีดทั้งแผ่น ซึ่งเป็นอาการขาดธาตุเหล็ก ถ้าเป็นใบเพสลาด อาการเหลืองจะเป็นที่แผ่นใบ แต่เส้นกลางใบจะเป็นสีเขียวลักษณะคล้ายใบหอก คือ แถบกว้างจาก ขั้วใบ แล้วเรียวแหลมลงไปจนถึงปลายใบ ซึ่งเป็นอาการขาดธาตุแมกนีเซียม อาจพบอาการทั้ง 2 ประเภทผสมผสานกันอยู่ในต้นเดียวกัน โดยมากจะพบในต้นทุเรียนที่ปลูกในดินร่วนปนทรายหรือดินทราย ที่มีธาตุ แมกนีเซียมและธาตุเหล็กค่อนข้างต่ำ ต้นทุเรียนที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาดข้างต้น เกิดจากการจัดการบางอย่างผิดพลาด คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย เร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านสาขาโดยไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยที่มีธาตุรอง หรือธาตุปริมาณน้อยร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของยอดเกิดขึ้นมาก ธาตุไนโตรเจนที่มีมากเกินไปจะลดอัตราการดูดซับธาตุแมกนีเซียมลง และเมื่อต้นทุเรียนขาดธาตุแมกนีเซียมก็จะมีผลทำให้ธาตุเหล็กมีประโยชน์ลดลงด้วย จึงทำให้ต้น ทุเรียนแสดงอาการขาดทั้งธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กไปพร้อมๆกัน ในกรณีที่เกิดอาการใบเหลืองดังกล่าวแล้ว อาการใบเหลือง จะสามารถหายได้เองเมื่อใบแก่ขึ้น แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจทำให้เกิดปัญหา ในการเตรียมความพร้อมของต้นให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการออก ดอกได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุแมกนีเซียมและธาตุเหล็กในอัตราสูง อย่างไรก็ตาม ปัญหาต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อนหรือใบเพสลาด ควรแก้ปัญหาโดยวิธีการป้องกันจะเหมาะสมกว่า กล่าวคือ ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่กับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ

  5. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด สาเหตุเกิดจากการช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไม่ถูกวิธี คือการที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น กลุ่มพาราควอต กลุ่มไกลโฟเซต หรือกลุ่มอื่นใน อัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ ฉีดพ่นเพื่อกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มของทุเรียน ปริมาณสารเคมีส่วนเกินสัมผัสกับรากทุเรียนที่กำลังพัฒนาอยู่ใกล้กับผิวดินและรากบางส่วน ทำให้แห้งตาย อาการใบเหลืองดังกล่าวจะพบ หลังจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น การจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ระบบรากของทุเรียนมีพัฒนาการก่อน ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วตามด้วยการจัดการ อื่น เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช

  6. ต้นที่มีใบเหลืองทั้งต้น ต้นทุเรียนประเภทนี้จะมีใบที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ใบมีลักษณะด้าน ไม่สดใสเป็นมัน ใบเหลืองทั้งแผ่นใบและเส้นกลางใบ อาจมีลักษณะการขาดน้ำเกิดร่วมด้วย ต้นทุเรียนที่มีอาการประเภทนี้จะพบมากในต้นที่ปลูกจากต้นกล้า ที่รากงอหรือรากขด ปลูกลึก มักมีน้ำขังอยู่ที่โคนต้น หรืออาจมีการถมดินบริเวณโคนต้น ค่อนข้างสูง และมีการระบายน้ำไม่ดี ต้นทุเรียนที่มีสภาพแบบนี้ หากมีการไว้ผลมากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา อาการใบเหลืองจะเกิดรุนแรงมากขึ้นในฤดูการผลิตต่อมา ซึ่งสาเหตุหลักของอาการประเภทนี้มักเกิดจากมีโรครากเน่าเข้าทำลายตรงบริเวณรากที่งอหรือขด ซึ่งรากจะเบียดชิดกัน จนเกิดรอยแผล เชื้อราไฟทอปเทอราจะเข้าทำลายได้ง่าย ทำให้ เกิดอาการรากเน่า และมีการขยายขนาดของแผลเน่าอยู่เสมอ ส่งผลให้รากฝอยบางส่วนแห้ง ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดน้ำและธาตุอาหารลดลง ดังนั้น การจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้ จำเป็นต้องรักษาโรครากเน่าไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากให้สำเร็จ ก่อนการจัดการอื่นๆ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การแต่งผลทุเรียน

 การดูแลในช่วงติดผลแล้ว มีนาคม- เมษายน

1 ตัดแต่งผลครั้งที่ 1 หลังดอกบาน 3-4 สัปดาห์ ตัดแต่งผลที่มีรูปทรง บิดเบี้ยว ผลขนาดเล็กหรือผลต่างรุ่น ผลที่อยู่ใน ตำแหน่งไม่เหมาะสม เช่น ปลายกิ่ง ด้านข้างของ กิ่ง และผลที่ติดเป็นกระจุกใหญ่ ๆ ออกเหลือผล ที่ดีไว้มากกว่าที่ต้องการจริง 50 %ครั้งที่ 2 หลังดอกบาน 6-8 สัปดาห์ ตัดผลที่มีขนาดเล็กกว่า ผลอื่นในรุ่นเดียวกัน ผลบิดเบี้ยว ผลที่มีอาการ หนามแดงครั้งที่ 3 ตัดแต่งครั้งสุดท้ายตัดผลขนาดเล็ก ผลบิดเบี้ยว ผลก้นจีบออก จะเหลือผลที่มีขนาดและรูปทรง สม่ำเสมอ ในปริมาณเท่ากับที่ต้องการจริง เมื่อตัดแต่งผลครั้งสุดท้ายเสร็จ ควรโยงกิ่งหรือใช้ไม้ไผ่ค้ำ เพื่อป้องกันกิ่ง หักจากน้ำหนักผลที่มากขึ้น ป้องกันผลร่วงในพื้นที่มีลมแรง


2 การใส่ปุ๋ย หลังจากติดผลแล้ว 5-6 สัปดาห์ ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเร่งการเจริญของผล เพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ ถ้าต้นทุเรียนขาดความสมบูรณ์ ใบเล็ก ใบซีด ไม่เขียวเข้ม ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริมในช่วงสัปดาห์ที่ 5-10 หลังดอกบาน เพื่อช่วยให้ผลทุเรียนเจริญดีขึ้น

3 การควบคุมไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อนถ้าทุเรียนแตกใบอ่อนในช่วงติดผล ใบอ่อนและผทุเรียน จะแย่งอาหารกันและเกิดผลเสีย ผลอ่อนร่วง รูปทรงลูกบิดเบี้ยว เนื้อคุณภาพ ด้อยเป็นเต่าเผา เนื้อแกน ถ้าพบว่าทุเรียนจะแตกใบอ่อน โดยสังเกตเห็นเยื่อหุ้มตา เริ่มเจริญหรือเรียกระยะหางปลา

4 การรดน้ำ ดูแลรดน้ำสม่ำเสมอ ตลอดช่วงที่กำลังติดผล

5 จดบันทึกวันดอกบาน ของแต่ละรุ่น แต่ละต้นไว้ พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้โดยใช้เชือกสีที่แตกต่างกันในการค้ำกิ่งที่ติดผล แต่ละรุ่นเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว

6 การป้องกันกำจัดโรคแมลง ตรวจสอบและป้องกันกำจัด โรคผลเน่า หนอนเจาะผล ทุเรียน ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย

7 การป้องกันหนูหรือกระรอก เข้าทำลายกัดกินทุเรียน ถ้าสวนมีสัตว์รบกวนควรหาวิธีป้องกันดังนี้ – ทำความสะอาดเก็บ สิ่งของที่รกร้างกิ่งไม้รอบสวน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนูกระรอก – ตัดกิ่งไม้บริเวณรอบต้นทุเรียนของต้นไม้อื่นๆเพื่อตัดเส้นทางหนูได้ – นำสังกะสีแผ่นเรียบกว้าง 30 เซนติเมตร ยาวตามขนาดของต้นพันรอบโค่นต้นทุเรียน เป็นการป้องได้เฉพาะหนู – การป้องอีกวิธีหนึ่งคือการห่อ ให้ใช้ถุงพลาสติกใส่ขนาด 40×60 เซนติเมตร ตัดก้น ถุงและตัดข้างยาว 30 เซนติเมตร นำมาห่อทุเรียน ควรห่อให้คลุมตั้งแต่กิ่งที่ลูกทุเรียน นั้นติดอยู่ปล่อยชายถุงให้อากาศถ่ายเท่ได้สะดวก ป้องกันได้ทั้งหนู กระรอก นก

การใส่ปุ๋ยทุเรียน

 การใส่ปุ๋ย

ในปีแรกหลังปลูก ควรใส่ปุ๋ยและทำโคน จำนวน 4 ครั้ง (การทำโคน หมายถึง การกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม ถากดินรอบนอกทรงพุ่มมาพูนกลบใต้ทรงพุ่มในลักษณะลาดเอียงจากต้นพันธุ์ออกไปโดยรอบ และหลีกเลี่ยงการถากดินบริเวณโคนต้นเพราะระบบรากทุเรียนที่อยู่ค่อนข้างตื้นใกล้ผิวดินจะได้รับอันตราย และชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้โรครากเน่าโคนเน่าเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น) โดยควรใส่ปุ๋ยและทำโคนครั้งที่ 1 หลังจากปลูกแล้วประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็ทำต่อเนื่องกันจนถึงสิ้นปี และควรใส่ปุ๋ยและทำโคนเดือนเว้นเดือน

โดยในแต่ละครั้งควรใส่ปุ๋ยในปริมาณ ดังนี้ ครั้งที่ 1 ถึง 3 ใส่ปุ๋ยคอก จำนวน 5 กิโลกรัมต่อต้น
ครั้งที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น ปีต่อๆ ไป (ระยะที่ต้นทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) ควรใส่ปุ๋ยและทำโคนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและหลังฤดูฝน โดยควรใส่ปุ๋ยในปริมาณ ดังนี้

ปุ๋ยคอก อัตราเป็นบุ้งกี๋ต่อต้นต่อปี เท่ากับ 2 เท่าของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ครั้งต่อปี ยกตัวอย่าง เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยคอกปีละ 6 บุ้งกี๋ หรือ 13.5 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ครั้ง (2.25 กิโลกรัม = 1 บุ้งกี๋)

ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นต่อปี เท่ากับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี ยกตัวอย่าง เช่น ต้นทุเรียนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ทรงพุ่ม 3 เมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 3 กิโลกรัม แบ่งใส่ 2 ถึง 4 ครั้งต่อปี

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วิธีการเลือกกิ่งพันธุ์ทุเรียน

 ท่านที่จะปลูกทุเรียนโดยเฉพาะมือใหม่พึงศึกษาเรียนรู้นิดหนึ่งถึงวิธีการเลือกกิ่งพันธุ์ทุเรียนนะครับ ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1.เลือกต้นทุเรียนที่มีใบเขียวใหญ่โดดเด่น และที่สำคัญควรเลือกต้นที่ไม่รัดใบอ่อนเพราะการที่ต้นทุเรียนรัดใบอ่อนเวลาเรานำไปปลูกจะมีการชะลอการเจริญเติบโตและอาจมีหนอนหรือแมลงมากินยอดได้ ต่างจากต้นที่มีใบแก่แล้วเพราะต้นที่มีใบแก่แล้วเมื่อเรานำไปปลูก แล้วหลังจากที่รากเขาเดินเขาจะรัดใบอ่อนที่รวดเร็วทำให้ต้นทุเรียนมีความต้านทานสูงกว่าและโตเร็วกว่าต้นที่เราเลือกซื้อมาตอนเป็นใบอ่อน (สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้าม) เว้นแต่ซื้อจำนวนมากอาจไม่จำเป็นต้องเลือก


2.ใบทุเรียนต้องเขียวและใบใหญ่เพราะแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของต้นทุเรียน

3. ลักษณะต้นทุเรียนต้องตรง มองดูมีความแข็งแรงเพราะหากเราเลือกต้นที่มีความโค้งงอหรือต้นอ่อนเวลาเราปลูกแล้วมีลมพัดแรงต้นก็โค้งงอตามลมหากไม่มีการปักไม้ดัด

4.การเลือกโคนต้นทุเรียนเราจำเป็นจะต้องสังเกตที่โคนต้นทุเรียนโคนต้นทุเรียนที่ดีควรไม่แก่จนเกินไปหรือไม่อ่อนจนเกินไป ไม่ควรมีสีดำมากจนเกินไปโคนทุเรียนเมื่อมองดูแล้วต้องไม่แกนหรือมีเชื้อรา โคนต้นต้องเป็นสีน้ำตาลอ่อนสีไม่เข้มจนเกินไป หากโคนต้นทุเรียนที่แก่จนเกินไป(อยู่ในถุงเพาะนาน)จะทำให้เวลาเรานำไปปลูกมีการเจริญเติบโตที่ช้า ต่างจากคนต้นทุเรียนที่มีความอ่อนแข็งแรงพอดีเพราะเมื่อเรานำไปปลูกต้นทุเรียนจะมีการเจริญเติบโตที่เร็วเพราะต้นทุเรียนสามารถแผ่ขยายรากได้รวดเร็วกว่าต้นแก่ที่นำมาปลูกใหม่

5.กิ่งจะต้องไม่ยาวกว่ายอดเพราะการที่กิ่งยาวกว่ายอดทำให้อาหารที่ดูดจากลำต้นไปเลี้ยงที่กิ่งแทน แทนที่จะเลี้ยงที่ยอดทำให้ต้นทุเรียนมีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างจะช้า

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

โรคราสีชมพู

 โรคราสีชมพู

โรคนี้พบมากในแหล่งปลูกที่มีความชื้นสูง และต้นทุเรียนมีทรงพุ่ม หนาทึบ จะพบอาการใบเหลืองร่วงเป็นหย่อม ๆ คล้ายกับอาการกิ่งแห้ง และใบร่วงที่เกิดจากโรคโคนเน่า แต่ถ้าสังเกตดูที่กิ่งทุเรียนจะเห็นลักษณะ คล้ายขุยสีชมพูปกคลุมอยู่ และทำให้เปลือกของกิ่งที่เป็นโรคปริแตก และล่อนจากเนื้อไม้ ถ้าเกิดรอบกิ่งจะทำให้กิ่งทุเรียนแห้งตายไปในที่สุด

วิธีการควบคุม

  • ถ้าเชื้อราเริ่มเข้าทำลายให้ถากบริเวณที่เชื้อเข้าทำลายออก เผาให้หมด แล้วทาแผลด้วยสารพวกคอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์หรือ ปูนแดง แต่ถ้ากิ่งถูกทำลายทั้งกิ่งให้ตัดทิ้งแล้วนำมาเผาทำลาย และทารอยแผลที่ตัดด้วยสารพวกคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์หรือปูนแดง แล้วให้ฉีดพ่นตามกิ่งที่อยู่ใกล้เคียงด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
  • ควรจะมีการตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวทุกครั้ง เพื่อกำจัด กิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทิ้ง ต้นทุเรียนจะโปร่งได้รับแสงแดดทั่วถึงและ อากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งจะช่วยลดการระบายของโรคได้อีกทางหนึ่ง

การจัดการเพื่อคุณภาพผลผลิต

  การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต           หลักการสำคัญคือการจัดการให้ผลอ่อน มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการชะงัก หรือ...